ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก
- Mommy Lee
- Jan 25, 2021
- 1 min read
จะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก เป็นที่ต้องระมัดระวังให้ดีนอกจากจะต้องฟังคำแนะนำของสูติแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้วยังต้องรู้ด้วยว่าอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อให้ไม่มีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์
1. อาหารการกินควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก
เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ ทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) ที่เกิดจากการติดเชื้อ เมื่อคุณแม่กินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบๆ สุกๆ เข้าไป เช่น สเต็ก ลาบดิบ โดยไม่ได้ทำให้สุกพอที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้ สามารถติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้
ถ้าคุณแม่ติดเชื้อทอก ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่จะติดต่อสู่ลูกน้อยในครรภ์ผ่านทางรก โดยทารกที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสแท้ง หรือตายแรกคลอด หรืออาจมีอาการตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ ชัก น้ำคั่งในสมอง หัวบาตหรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน เป็นต้น ............................................................................
2.ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล
หลีกเลี่ยงการบริโภคปลาและหอยบางประเภทซึ่งอาจมีสารปรอทสูง สารปรอทจะทำลายระบบประสาท ของทารก ยิ่งปลามีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสารปรอทสูงเท่านั้น
องค์การอาหารและยาของสหรัฐแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยง ปลาดาบ ปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลา Tile fish คุณสามารถกิน ปลาดุก ปลาพอลล็อค ปลาแซลมอน กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ได้สัปดาห์ละ 12 ออนซ์ (ประมาณอาหารมื้อปกติ 2 มื้อ)หลีกเลี่ยงการกินปลาและหอยดิบ หรืออาหารทะเลรมควันแช่เย็น ซึ่งแปลว่า คนท้องควรงดซูชิตลอดช่วงตั้งครรภ์ พยายามปรุงอาหารทะเลด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส เนื้อปลาสุกจะล่อนเป็นชิ้นและมีสีขุ่น สำหรับกุ้ง ล็อบสเตอร์ และหอยเชลล์ ปรุงจนกลายเป็นสีขาวขุ่น หอยชนิดต่าง ๆ ควรปรุงจนฝาเปิด ............................................................................
3. การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์
การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่แม่ท้องต้องระวังให้มาก ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น และต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้งด้วยว่าตั้งครรภ์อยู่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์ เนื่องจากยาบางตัว หากคุณแม่ได้รับในช่วง 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กพิการ เจริญเติบโตช้า หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
หากคุณแม่รับประทานยามาก่อนหน้าที่จะรู้ตัวว่าท้อง เช่นยาแก้สิว ยาแก้ไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่างๆ คุณแม่ควรนำยานั้นไปปรึกษาคุณหมอว่ายังสามารถรับประทานต่อไปได้หรือไม่
แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ ซึ่งยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล ลดไข้ แก้ปวด, ยาคลอเฟนิรามีน แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก ,ยาเพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน เป็นยาปฎิชีวนะที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับสตรีมีครรภ์ และผงเกลือแร่ ............................................................................
3. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
เช่น สถานที่ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ บริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอาศัยอยู่ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี รวมถึง งานบ้านที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี สีทาบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างเล็บ ยาฉีดยุง ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายเมื่อสูดหายใจ หรือสัมผัสและดูดซึมผ่านผิวหนัง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้
จากการวิจัยพบว่า คุณแม่ท้องที่อยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น
แม้แต่ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ในผักผลไม้ ยังมีความเชื่อมโยงไปสู่ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด และภาวะแขนขาพิการแต่กำเนิด ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรมองข้ามการล้างผักให้สะอาดทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการรับรังสีจากการเอ็กซเรย์ หรือบริเวณที่มีการแผ่รังสี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเด็กทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับรังสีปริมาณมาก จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และจะผ่านจากรกไปสายสะดือ และเข้าสู่ทารก ทำให้พิการแต่กำเนิด เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการพัฒนาของสมอง และเสี่ยงต่อมะเร็ง ............................................................................
4. เลิกใช้สารเสพติดบุหรี่
เชื่อกันว่าสารนิโคตินในบุหรี่สามารถผ่านรกไปยังทารกได้ ซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ คุณแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
และถึงแม้ว่าคุณแม่จะคลอดครบกำหนด ลูกก็มักจะออกมาตัวเล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ ระบบการหายใจล้มเหลวอย่างฉับพลันในทารกแรกเกิด มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งอาจเกิดความพิการรุนแรง หรือมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า และอาจแสดงออกเหมือนเด็กปัญญาอ่อน ............................................................................
5.ห้ามดื่มแอลกอฮอล์
หากคุณแม่ท้องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปฏิสนธิหรือในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แอลกอฮอล์จะไปทำลายเซลล์ประสาท ทำให้ทารกมีปัญหาการเจริญเติบโต น้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก โครงสร้างสมองผิดปกติ บกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาด้านความจำ และมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น
หากคุณแม่ท้องดื่มแอลกฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้ทารกมีลักษณะร่างกายที่ผิดปกติ ช่องตาสั้น ร่องริมฝีปากบนเรียบ ริมฝีปากบนยาวและบาง หนังคลุมหัวตามาก จมูกแบน ปลายจมูกเชิดขึ้น บริเวณส่วนกลางใบหน้ามีการพัฒนาน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเฉพาะของทารกที่เกิดจากมารดาดื่มแอลกอฮอล์ที่เรียกว่า Fetal alcohol syndrome ............................................................................
6. ความเครียดของแม่ส่งผลถึงลูก
ความเครียดของแม่ท้องส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครภ์ และเพิ่มโอกาสแท้งบุตร กระตุ้นการผลิตสารเคมีและฮอร์โมนในร่างกาย ที่ทำให้หลอดเลือดแคบลง นำออกซิเจนไปเลี้ยงมดลูกไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก โดยเด็กที่คลอดจากแม่ที่มีความเครียดสูง มักจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เด็กกลับมามีสุขภาพที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ เมื่อแม่ท้องเกิดความเครียด ฮอร์โมนความเครียดจะส่งไปยังทารกในครรภ์ เมื่อลูกน้อยได้รับสัญญาณความเครียดก็จะตีความว่าจะต้องมีความเครียดรุนแรงอยู่ในสภาพแวดล้อมข้างนอกแน่นอน สมองจึงสั่งการให้ทารกเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความเครียดเหล่านั้น ซึ่งหากสมองของทารกมีการตอบสนองที่มากเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อความผิดปกติ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก ได้ ............................................................................
7. ความสวยความงามจากการซาวน่า /ทำสีผม
ความเสี่ยงจากการซาวน่าของแม่ท้องเกิดจากความร้อนที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ที่ทำเป็น ส่งผลให้เลือดข้น มีโอกาสเกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกน้อยลง ทารกอาจเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หรืออาจถึงขึ้นแท้งบุตรได้
การทำสีผม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองระยะยาว เพื่อยืนยันว่าการทำสีผมระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงการทดลองในสัตว์ก็ยังไม่พบความผิดปกติในการพัฒนาของตัวอ่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่แนะนำให้คุณแม่ทำสีผมในช่วง 3 เดือนแรก เพราะหนังศีรษะสามารถซึมซับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้ แม้จะเพียงปริมาณน้อย และไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
Yorumlar